“หากท่านมีข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา ท่านจะต้องตัดสินว่าไม่มีความผิด หากไม่มีข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล ท่านจะต้องใช้สติปัญญาเพื่อตัดสินว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง” คือประโยคเปิดของหนัง และเป็นถ้อยคำแถลงที่ผู้พิพากษาแจ้งต่อคณะลูกขุนทั้ง 12 คน ต่อหน้าที่รับผิดชอบและหลักการที่จะต้องยึดถือในการตัดสินที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตของจำเลย ฟังดูเผิน ๆ แล้ว ช่างเป็นไดอะล็อกการเปิดเรื่องที่แข็งทื่อ ธรรมดา ไม่มีความน่าสนใจ เหมือนรูปประโยคที่มักจะเขียนอยู่ในคู่มือการใช้งานอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่มีใครสนใจจะเปิดอ่าน อีกทั้งเมื่อการดำเนินเรื่องเริ่มต้นขึ้น เราจึงได้รู้ว่านี่คือหนังโลเคชันเดียว ที่จะเริ่มเรื่องและจบเรื่องอยู่ภายในฉาก ๆ เดียวกับระยะหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ก่อให้เกิดความสงสัยในความอดทนของตัวเองว่าจะสามารถดูหนังเรื่องนี้จนจบเรื่องได้หรือไม่

เหตุผล 2 ข้อ ที่จะอธิบายถึงความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้

แน่นอนว่าเมื่อได้ลองดูจริง ๆ หนังเรื่องนี้ก็ได้พาเราพาดผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่ไม่ทันได้สะกิดใจถึงความน่าเบื่อหน่ายใด ๆ สมคำร่ำลือของหนังคลาสสิคที่ถูกยกขึ้นหิ้งตลอดกาล โดยมีเหตุผลหลัก ๆ 2 ข้อ

1. Conflict สุดแข็งแกร่งที่นำไปสู่ ข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล

หนังตั้งต้นให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าคือหนังโลเคชันเดียว ตัวหนังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรึงคนดูไว้ให้อยู่หมัด ในช็อตแรกของการดำเนินเรื่องก่อนที่จินตการถึงความเบื่อหน่ายต่าง ๆ นา ๆ จะเริ่มก่อตัวขึ้น และตัวตัดสินชี้ชะตาที่จะนำพาคนดูไปจนถึงท้ายเรื่องได้ ก็คือ Conflict เริ่มเรื่องนั่นเอง

แล้วหนังก็สร้าง Conflict ดังกล่าว โดยการให้ตัวเอกของเรื่องโหวตแทงสวนคณะลูกขุนอีก 11 คนที่เหลือว่า “จำเลยไม่มีความผิด” ทั้งที่คดีความของเรื่องถูกตั้งต้นไว้ให้อยู่ในลักษณะที่ไม่ว่าใครได้ฟังทั้งพยานและหลักฐาน ต่างก็สามารถยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผิดจริง”

การกระทำดังกล่าวของตัวเอกส่งผลให้กิจกรรมการตัดสินคดีนี้จะต้องดำเนินต่อไปอีก ทั้ง ๆ ควรจะจบได้ภายใน 5 นาที ตามความคาดหวังของทุก ๆ คนในห้อง จากข้อกฎหมายที่ระบุไว้ว่า “ไม่ว่าจะเป็นคำตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดของคณะลูกขุน จำเป็นจะต้องเป็นเสียงเอกฉันท์เท่านั้น”

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจึงเสมือนว่าเรากำลังจะได้ดูมวยรุม 11 ต่อ 1 นั่นเอง และแน่นอนว่าถือเป็นการเปิดเรื่องที่ตรึงความสนใจของคนดูให้เอาใจช่วยตัวเอกของเรื่องไว้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

และขณะนี้สายตาทุกคู่ในห้องต่างก็จับจ้องไปยังแกะดำตัวเดียวของฝูง เพื่อเฝ้ารอคำอธิบายถึงเหตุผลของการกระทำดังกล่าวที่กำลังจะทำให้พวกเขาเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ แล้วตัวเอกของเรื่องก็ได้ให้คำอธิบายที่แสนเรียบง่ายและไร้น้ำหนักใด ๆ ไว้ว่า “ผมสงสัย”

ทว่าเมื่อเรื่องเริ่มดำเนินผ่านไดอะล็อกต่อไดอะล็อกไปเรื่อย ๆ นั้น เราจึงได้เริ่มรู้ว่า แท้จริงแล้วคำตอบนั้นของตัวเอกมันกำลังฉายแก่นแท้ของตัวเรื่องที่ถูกเปิดไว้ตั้งแต่ตอนต้นผ่านคำประกาศของผู้พิพากษาว่า “หากท่านมีข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา ท่านจะต้องตัดสินว่าไม่มีความผิด” พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีข้อสงสัยในพยานหลักฐานที่ชี้ความผิดจำเลยว่าจริงหรือไม่จริง จะต้องตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด ตามหลักการ “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” นั่นเอง

ซึ่งเต็มไปด้วยช่องโหว่ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลในภายหลังเพื่อกลับคำตัดสินของคณะลูกขุนทั้ง 11 คน นั่นเอง

2. ความเป็นมนุษย์ ที่เปิดเผยข้อสงสัยอันสมเหตุสมผล

การปะทะคารมของหนังลักษณะนี้ ย่อมเต็มไปด้วยการเชือดเชือนตรรกะที่ “สุดแสนจะสมเหตุสมผล” ระหว่างตัวละครไปมา ทว่าสิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือการใส่ “ความเป็นมนุษย์” เข้าไปในบทหนัง ทำให้ความสมเหตุสมผลที่ดูจะน่าเบื่อและแข็งท่อ ถูกเปลี่ยนเป็นความไหลลื่นและกลมกล่อม

ตัวละครทั้ง 12 คน ต่างเต็มไปด้วย Attitude ที่หลากหลายและได้รับการสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างมีมิติ เสมือนการไล่เฉดสีบนผืนผ้าใบถูกที่บรรจงขึ้นมาอย่างงดงาม กล่าวคือ เมื่อเริ่มต้นเรื่องเราจะรู้แค่ว่าตัวเอกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นต่างจากอีก 11 คน แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปเราจะค่อย ๆ เห็นว่าอีกทั้ง 11 คนนั้น แม้จะเห็นตรงกันว่าจำเลยผิดจริง แต่ก็มีสเปกตรัมทางความคิดที่แตกต่างกันไป

ไล่ไปตั้งแต่คนที่มีอคติส่วนตัวกับคนสลัม คนที่มีปมในใจระหว่างเรื่องพ่อกับลูก (ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมิติที่ทับซ้อน อยู่ในตัวจำเลยของคดีนี้ทั้งสิ้น) หรือจะเป็นคนที่ให้น้ำหนักกับข้อเท็จจริงและพร้อมที่จะเปิดรับการโต้เถียง คนที่สับสนในจุดยืนของตัวเอง ไปจนถึงคนที่ไม่สนใจในข้อเท็จจริงใด ๆ เพราะอยากจะรีบกลับไปดูบอล ด้วยเฉดสีที่แตกต่างกันดังกล่าวทำให้หนังค่อย ๆ เผยให้เห็นการยึดถือในข้อเท็จจริงของแต่ละคนในตอนแรก ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นการตั้งข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลต่อข้อเท็จจริงในตอนหลัง จนเป็นเหตุให้ยกมือเปลี่ยนข้างมาทางเดียวกับตัวเอกได้อย่างเนียนตา ตามลำดับความเข้มแข็งของอคติส่วนตน

ท้ายที่สุดแล้วตัวหนังที่พูดถึง ประเด็นของการตัดสินความถูกต้องในระบบยุติธรรม ที่อาศัยเพียงคำกล่าวอ้างและหลักฐานประกอบข้างเคียงที่ไม่มีทางจะฟันธงแน่ชัดได้ว่า เหตุการณ์จริงนั้นเป็นอย่างไร การยึดหลักการ พยายามหาข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลในพยานและหลักฐานของรูปคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อรากฐานการตัดสินของระบบยุติธรรมตามที่นักกฎหมายชาวอังกฤษคนหนึ่งเคยให้คำกล่าวไว้ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน” นั่นเอง

Recommended Posts

Leave a Comment