“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ในช่วงนี้หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้ดี เพราะการหลอกลวงทางโทรศัพท์นั้นมีให้ได้ยินมานานมากแล้ว ออกอาละวาดโทรหลอกลวงเหยื่อ ทำให้สูญเสียเงินมากมาย ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้วทำไมถึงยังไม่หมดไปเพราะ เมื่อไรที่ยังมีคนไม่รู้และหลงเชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ ก็จะยังมีให้เห็นเรื่อย ๆ

รูปแบบที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เลือกใช้บ่อย ๆ ในการหลอกเหยื่อมีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเคยเจอแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอก โดยเฉพาะในอดีตการสื่อสารหรือเทคโนโลยีไม่ได้รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ที่เมื่อตัวเองเจอเรื่องราวอะไรมาก็สามารถโพสลงโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ทันที เมื่อคนส่วนใหญ่มีการรับรู้ข่าวสารมากขึ้น แก๊งคอลเซ็นเตอร์เองก็มีการปรับตัวให้ทันสมัย อาศัยความนิยมส่วนใหญ่มาพลิกแพลงหลอกลวงเหยื่อเช่นกัน

1.บริษัทส่งของ

อันดับหนึ่งที่เหยื่อโดนหลอกมากที่สุดคือ อ้างว่าโทรมาจากบริษัท DHL หรือไปรษณีย์ไทย โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหลอกเหยื่อว่ามีการส่งพัสดุไปที่ต่างประเทศ แต่เมื่อตรวจสอบเป็นของผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่จะอ้างว่าเป็นพาสปอร์ตปลอม หรือสารเสพติด และจะหลอกขอข้อมูลส่วนตัวให้เราโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชี หากเราเผลอโอนไปรับรองว่าไม่มีทางได้เงินคืนแน่นอน

2.ธนาคาร

ในช่วงก่อนโควิดแก๊งคอลเซนเตอร์ทวงบัตรเครดิตเคยระบาดอยู่ช่วงหนึ่ง อาจจะน้อยลงบ้างแต่ก็ยังมีให้ได้เห็น โดยจะเป็นการโทรเข้ามาของระบบอัตโนมัติและแจ้งกับเราว่ามียอดค้างบัตรเครดิตเป็นจำนวน 3 เดือน และให้เรากดหมายเลขเพื่อติดต่อหาเจ้าหน้าที่ หากเหยื่อที่มีบัตรเครดิตก็จะตกใจและรีบโอนเงินเพื่อปิดยอดดังกล่าว ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้มีบัตรเครดิตก็จะอ้างว่าชื่อเราถูกนำไปเปิดบัตรเครดิต ให้เราแจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รออยู่อีกสาย (เป็นมิจฉาชีพเช่นเดียวกัน) หลอกถามข้อมูลส่วนตัวและให้เราโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องแก้ไขให้

3.เจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อประชาชนหลาย ๆ คนเริ่มมีข้อมูลจากจากวิธีการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์มากขึ้น ทำให้ต้องมีการสร้างข้อมูลที่หน้าเชื่อถือ โดยจะอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ตำรวจ หรืออัยการ จะโทรเข้ามาว่าเรามีหมายศาลในคดีทุจริตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงิน หลอกขอข้อมูลส่วนตัวแล้วหลอกให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบในคดี

4.ทวงหนี้

ส่วนใหญ่เคสนี้มักจะพบใน SMS หรือข้อความทางไลน์ แต่ก็จะมีโทรเข้ามาบ้าง โดยแก๊งคอลเซนเตอร์ จะอ้างว่ามาทวงหนี้ยอดเงินตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น หากเราแจ้งว่าไม่เคยมีการกู้เงินใด ๆ ก็จะบอกว่ามีคนแอบอ้างเอาชื่อเราไปกู้ แล้วพยายามใช้น้ำเสียงข่มขู่ให้เราโอนเงินใช้หนี้ หรือมีการโอนสายให้ตำรวจเพื่อให้เรากลัวแล้วโอนเงินไป บางคนเห็นเป็นยอดเงินน้อย ๆ ก็โอนไปเพื่อให้เรื่องจบ แต่หากมีคนหลงกลเยอะ จากยอดเงินน้อย ๆ ก็กลายเป็นหลักล้านได้เช่นกัน

วิธีการป้องกันเบื้องต้น เพื่อไม่ให้โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขโมยข้อมูลส่วนตัวเราไปได้

ช่วงก่อนหน้านี้คนไม่ค่อยนิยมรับโทรศัพท์ที่เป็นเบอร์ที่ไม่คุ้นเคย แต่ตอนนี้ถ้าเป็นหมายเลขแปลกก็อดห่วงไม่ได้ว่าจะเป็นพนักงานส่งพัสดุที่เราสั่งสินค้าออนไลน์ไว้ การเลือกใช้แอปพลิเคชันที่สามารถระบุชื่อของหมายเลขได้ ก็สามารถช่วยเราได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญ คือ การที่มีคนโทรมาหาเราอย่างน้อยปลายสายต้องรู้จักชื่อเรา และต้องแจ้งชื่อและบริษัทของปลายสายที่โทรเข้ามา หากโทรเข้ามาหาเราแต่ยังต้องถามข้อมูลของเรา ให้คิดไว้เลยว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์แน่นอน ถ้าคุยไปคุยมาแล้วเริ่มรู้สึกแปลก ๆ ให้วางสายทันที

สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้คือ จะอ้างเรื่องของกฎหมายเป็นหลัก เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จะเน้นย้ำไม่ให้เราบอกใครหรือปรึกษาใคร และจะพยายามพูดให้เราเกิดความกลัว และอ้างถึงคนที่มีอำนาจเพื่อหลอกให้เราเชื่อใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง หากเรามีสติคิดหรือพยายามติดตามข่าวสารไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหน เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ง่าย ๆ

เมื่อเรารู้ข้อมูลทั้งวิธีการที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ใช้ และวิธีการรับมือแล้ว หากมีหมายเลขโทรศัพท์แปลก ๆ โทรเข้ามา เราก็สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้แล้วว่าเป็นมิจฉาชีพที่จะมาหลอกลวงเราหรือไม่ และยังสามารถนำข้อมูลหรือเทคนิคเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้กับคนเราที่รู้จักและห่วงใยได้อีกด้วย

Recommended Posts

Leave a Comment