สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นเลี้ยงปลาแต่ติดปัญหาว่าไม่มีพื้นที่ การเลี้ยงปลาคอนโด อาจเป็นทางเลือกให้คุณได้

คอนโดมิเนียม คือ สิ่งปลูกสร้างที่ช่วยให้คนเราอยู่อาศัยได้ในบริเวณพื้นที่จำกัด  เป็นเสมือนบ้านย่อส่วนที่ทำให้เราบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแต่คนเราเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในคอนโด  แม้แต่ปลาก็อยู่ในคอนโดได้  เราเรียกว่าการเลี้ยงปลาคอนโด ในอดีตการเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนจำเป็นจะต้องมีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง ในปัจจุบันมีวิธีการเลี้ยงปลาสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดหรือไม่มีบ่อน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก การเลี้ยงปลาในกระชังบก แต่วันนี้เราจะพูดถึงการเลี้ยงปลาคอนโด

สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่และมีความสนใจอยากเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนแต่มีพื้นที่จำกัด ปลาที่อยากแนะนำให้เริ่มเลี้ยงคือ ปลาดุก เนื่องจากปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายและเป็นที่นิยมในการบริโภค

วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงปลาคอนโด

  1. พันธุ์ปลาดุก ขนาด 5-7 เซนติเมตร
  2. อาหารปลาดุกชนิดเม็ด
  3. กะละมังพลาสติกหรือถังพลาสติก
  4. สายยาง
  5. ชั้นสำหรับวางกะละมังหรือถัง
  6. จุลินทรีย์ EM

วิธีการเลี้ยงปลาคอนโด

  1. ตวงน้ำลงในภาชนะสำหรับเลี้ยงปลาประมาณ 2 ใน 3 ส่วน
  2. ปล่อยพันธุ์ปลาดุกลงเลี้ยงในภาชนะด้วยอัตราน้ำ 5.5 ลิตร / ปลา 1 ตัว
  3. เรียงภาชนะบนชั้นประมาณ 3 – 5 ชั้น ขึ้นกับขนาดภาชนะ ถ้าจำนวนชั้นสูงมากเกินไปการดูแลจะไม่สะดวกและชั้นต้องแข็งแรงมากพอจะรับน้ำหนัก
  4. ให้อาหารปลาทุกวันในช่วงเช้าและเย็น อัตราอาหารที่เหมาะสมในแต่ละวันคือ 3 – 5% ของน้ำหนักตัวปลาในภาชนะนั้น ๆ
  5. เมื่อน้ำขุ่นและเริ่มมีกลิ่นให้เปลี่ยนน้ำ โดยใช้สายยางทำกาลักน้ำถ่ายน้ำออกจากภาชนะ ช่วงแรกปลายังตัวเล็กจะยังไม่ได้เปลี่ยนน้ำบ่อย เมื่อปลาโตขึ้นจะต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยขึ้นประมาณ 7 – 10 วัน / ครั้ง
  6. ทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำให้เติมจุลินทรีย์ EM ลงไปในน้ำใหม่ 1 หยด จะช่วยให้น้ำเสียช้าลงและลดการติดเชื้อของปลา
  7. หมั่นสังเกตปลาว่ามีพฤติกรรมยังไง มีอาการผิดปกติ  มีบาดแผล และตายหรือไม่  ถ้ามีให้แยกออกมา การเรียนรู้จากการสังเกตและฝึกปฏิบัติจริงจะช่วยเพิ่มทักษะความชำนาญของเราให้มากขึ้น
  8. เมื่อปลาอายุ 60 – 75 วันขึ้นไป สามารถนำไปบริโภคได้

ข้อด้อยของการเลี้ยงปลาคอนโดคือ ต้องคอยเปลี่ยนน้ำตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ปริมาณปลาที่เลี้ยงได้ต่อครั้งมีจำนวนน้อย แต่ก็มีข้อดีคือ สามารถเลี้ยงปลาได้แม้จะมีพื้นที่แคบ จำกัดการกระจายของเชื้อโรคหากปลาติดเชื้อเพราะเลี้ยงแยกภาชนะกัน และเป็นแบบฝึกหัดเริ่มต้นเรียนรู้การเลี้ยงปลาเพื่อต่อยอดในอนาคตได้

กิจกรรมทางการเกษตรมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบหรือสนใจด้านไหนเป็นพิเศษ หากคนเรามีความตั้งใจและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว  ต้องประสบความสำเร็จแน่นอน

Recommended Posts

Leave a Comment