“บ้านสุขภาพดี” ที่ใคร ๆ ก็อยากมี ในยุคที่เทคโนโลยีไปไกลแบบก้าวกระโดดนั้น ทำให้ปัจจุบันวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบันผู้คนได้หันกลับมาดูแลตนเองในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร การกิน หรือการเลือกที่จะอยู่ในวิธีแบบธรรมชาติกันมากขึ้น ซึ่งเมื่อคนกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจดีส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ย่อมดีขึ้น เช่นเดียวกันกับ “ บ้าน “ ที่เราใช้เวลาอยู่อาศัยนานที่สุดรองลงมาจากที่ทำงาน ซึ่งหากเราดูแลสุขภาพบ้านให้ดีนั้น บ้านย่อมส่งผลดีให้ทั้งผู้อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมสังคมข้างเคียงด้วย ซึ่งในวันนี้ผมจะขอหยิบยกแนวคิดการออกแบบบ้านสุขภาพดีมาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้และปฏิบัติตามกัน

3 องค์ประกอบบ้านสุขภาพดี

คำว่า “ บ้าน “ อาจจะไม่ได้มีความหมายแค่เป็นบ้านพักอาศัยเท่านั้น แต่คำว่าบ้านนั้นจะต้องมีองค์ประกอบของการสร้างสภาวะที่สบายและเป็นบ้านสุขภาพดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านรูปแบบไหนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัย เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมสีเขียว หรือการนำเสียงธรรมชาติเข้ามาใช้ หรือจะเป็นเรื่ององค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และองค์ประกอบด้านจิตวิญญาณของผู้อยู่อาศัยที่จะต้องคำนึงควบคู่ไปด้วย ซึ่งในบทความนี้ได้รวบรวม 3 องค์ประกอบที่สำคัญหลัก ๆ มาแบ่งบันให้ทางผู้อ่านได้นำไปปรับใช้กันง่าย ๆ โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1.องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านสุขภาพดี

สภาพแวดล้อมที่โปร่งโล่งสบาย จะดีแค่ไหนหากมีลมเย็นบริสุทธิ์สดชื่นพัดผ่านร่างกายคุณแล้วเข้ามายังตัวบ้านในทุก ๆ วัน การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกให้เอื้อต่อการสร้างสภาวะ ณ สบาย เป็นสิ่งที่เราควรคำนึงเป็นอันดับแรก ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับบ้านสุขภาพดี การปลูกต้นไม้รอบบ้านเพื่อช่วยดูดและฟอกสารพิษในอากาศ การจัดบริเวณหรือการสร้างรั้วโปร่งที่ให้ลมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือหรือทิศเหนือสามารถแทรกซึมเข้ามาในบริเวณบ้านได้ แล้วให้ลมพัดผ่านต้นไม้ที่มีอากาศที่เย็นบริสุทธิ์ก่อนเข้าตัวบ้าน ซึ่งอุณภูมิใต้ร่มไม้นั้นมีความต่างจากอุณภูมิกลางแจ้งโดยเฉลี่ยถึง 10 องศา นับว่าเย็นมากเลยทีเดียว

สภาพแวดล้อมอาบเสียงสบายหู หากภายในบริเวณบ้านมีเสียงรบกวนที่น่ารำคาญคงไม่ดีต่อสุขภาพเป็นแน่ การสร้างสภาพแวดล้อมทางด้านเสียงให้มีสุขภาพที่ดีก็จำเป็นเช่นกัน ยกตัวอย่างการสร้างสุขภาพที่ดีทางเสียง เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างคลื่นเสียงที่เหมาะแก่การพักผ่อน เช่น เสียงน้ำตก เสียงน้ำที่รินไหล เสียงนกร้อง เสียงลมผัดผ่านใบไม้ เสียงกระดิ่งที่ถูกลมพัดปลิว ฯลฯ

พื้นที่สีเขียวและอาหารเพื่อสุขภาพ สุขภาพที่ดีควรดีทั้งกายและใจ สร้างพื้นที่สีสันของธรรมชาติรอบบ้านหรือภายในบ้านที่ช่วยให้อารมณ์หรือจิตใจของเราแจ่มใส เมื่อสุขใจแล้ว การมีบริเวณพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษก็จะสร้างสุขภาพที่ดีในด้านร่างกายไปด้วยเช่นกัน

2.องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมภายในบ้านสุขภาพดี

สุขภาพด้านร่ายกาย การออกแบบพื้นที่การใช้งานไม่ว่าจะเป็นภายในบ้านหรือนอกบ้าน ต้องคำนึงถึงสุขภาพทางสรีรศาสตร์ ที่ไม่ทำลายสุขภาพของผู้อยู่อาศัย เช่น ทางเดินที่ไม่ทำลายสุขภาพ แต่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ความสูงของการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านที่สะดวกต่อการหยิบจับไม่ทำลายสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ( User Friendly Ergonomic )

สุขภาพด้านแสงสว่าง ออกแบบหรือสร้างหน้าต่างที่สามารถรับแสงธรรมชาติในตอนเช้าจากด้านทิศเหนือหรือด้านทิศตะวันออก ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดด อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเซโรโทนินที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยอารมณ์ดีได้

สุขภาพด้านการได้ยิน ลดหรือป้องกันปัญหาทางเสียงที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทางการได้ยิน แล้วจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกตัวบ้านที่อนุญาตให้ผู้อาศัยได้สัมผัสถึงเสียงธรรมชาติ

สุขภาพด้านการสัมผัส อนุญาตให้ในวันว่าง ๆ ของเราได้สัมผัสธรรมชาติรอบตัวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสต้นไม้ใบไม้ นั่งเล่นใต้ต้นไม้ เดินเล่นบนสนามหญ้า หรือได้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่เรารัก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เรามีความสุขทั้งทางกายและทางใจมากขึ้น

สุขภาพด้านการมองเห็น ลดหรือหลีกเลี่ยงมุมมองที่จะทำให้เรารู้สึกทางด้านลบ เช่น มุมมองที่มองไปเห็นการจาราจรที่ติดขัด กองขยะ ฯลฯ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจจะหาผ้าม่านที่ให้แสงสว่างเข้ามาได้เพียงพอมาติด หรือต้นไม้บางตกแต่งให้บรรยากาศห้องหรือพื้นที่ดีขึ้น

สุขภาพด้านการได้รับกลิ่น การบำบัดหรือรักษาสุขภาพด้วยกลิ่น Aromatherapy ถ้าเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองก็สามารถช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสุขภาพดีขึ้นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างการใช้กลิ่นธรรมชาติเข้ามาบำบัด เช่น กลิ่นตะไคร้ พืชสมุนไพรที่เราสามารถหาได้ง่าย ราคาประหยัด กลิ่นตะไคร้สามารถบรรเทาอาการหวัด ปวดศีรษะ ลดไข้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และถ้าปลูกไว้ในบริเวณบ้านยังสามารถไล่ยุงไล่แมลงบางชนิดได้อีกด้วย

สุขภาพด้านโทนสี สีมีผลกับอารมณ์และร่างกายของผู้อยู่อาศัย บ้านสุขภาพดีจึงควรเลือกใช้สีที่สบายตา เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละห้อง ในพื้นที่พักผ่อนควรหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้า เพราะเป็นแสงที่ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เราตื่นตัวกระฉับกระเฉง ซึ่งควรเลือกใช้ให้ถูกประเภทการใช้งาน ซึ่งห้องพักผ่อนควรเป็นสีที่สบายตา เช่น สีโทนพาสเทล หรือสีเอิร์ธโทน เป็นต้น

สุขภาพด้านอากาศภายในบ้าน IAQ ( Indoor Air Quality ) คุณภาพอากาศภายในบ้านก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากไม่ต่างจากภายนอกบ้าน เพราะอากาศเป็นสิ่งที่เราหายใจเข้าไปทุกวัน อากาศในตัวบ้านนั้นจึงต้องเป็นอากาศที่ดี ปราศจากฝุ่น รา หรือสารที่ก่อให้เกิดสารพิษ (Toxic) การเลือกใช้อุปกรณ์ภายในบ้านควรเลือกใช้วัสดุที่มีฉลากที่ระบุ Non Toxic ไม่เก็บฝุ่นมาก หรือไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น

เมื่อเราทราบข้อมูลองค์ประกอบของการสร้างบ้านสุขภาพดีแล้ว แต่ยังเหลือองค์ประกอบสุดท้ายที่ตัวบ้านจะขาดไม่ได้ก็คือผู้พักอาศัยเองที่จะต้องมีการดูแลให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย โดยองค์ประกอบสุดท้ายที่จะพูดถึงก็จะเป็นเรื่องการดูแลพัฒนาด้านจิตวิญญาณภายในของผู้พักอาศัยเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

3.องค์ประกอบด้านจิตวิญาณภายในของผู้พักอาศัย

เมื่อบ้านสุขภาพดีแล้วเราก็ควรหันกลับมาดูแลสุขภาพตัวผู้อยู่อาศัยให้ดีด้วย โดยมีองค์ประกอบของการสร้างสุขภาพที่ดีทั้งทางกายและทางใจ มีดังนี้

สุขภาพทางร่างกาย การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและปลอดภัย

สุขภาพทางจิตและสุขภาพทางปัญญา มีพื้นที่ชำระจิตใจ เช่น มุมสงบภายในตัวบ้าน เพื่อช่วยเยียวยาและรักษาสภาพจิตใจของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น

สุขภาพทางสังคม มีพื้นที่ภายในบ้านหรือนอกบ้านที่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้มาเยือน สามารถมีปฏิสัมพันธ์และสร้างมิตราภาพความรักที่ดีร่วมกันได้

สุดท้ายหวังว่าบทความ 3 องค์ประกอบบ้านสุขภาพดีที่ใคร ๆ ก็มีได้นี้ จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้อ่านทุกท่านที่จะนำความรู้ที่ได้นี้ไปประยุกต์ใช้ให้บ้านและให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อบ้านสุขภาพดีขึ้น สุขภาพผู้อยู่อาศัยก็จะดีขึ้นตามมา ส่งผลให้สังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวของเราน่าอยู่ขึ้นตามไปด้วย

Recommended Posts

Leave a Comment