ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไปทั่วโลก และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันโดยยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง รวมถึงในประเทศไทย ที่ต้องยกปัญหานี้ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้หลายประเทศร่วมกันคิดหาทางรอดที่จะทำให้ทั้งโลกผ่านพ้นวิกฤติการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ไปได้ วัคซีนโควิด-19 จากหลายบริษัทจึงถือกำเนิดขึ้น และดูเหมือนว่า จะเป็นคำตอบที่ทรงอิทธิพล และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

วัคซีนโควิด-19 จากทั่วโลกมีอะไรบ้าง ?

ในปัจจุบันนี้วัคซีนโควิด-19 ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นจากหลายร้อยบริษัททั่วโลก ที่มีวิธีการผลิต กลุ่มเป้าหมาย ประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน โดยแบ่งชนิดวัคซีนจากวิธีการผลิตออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

  1. วัคซีนที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 โดยอาศัยหลักการหลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าไปแล้ว ร่างกายจะจดจำสารพันธุกรรมเหล่านี้ และสร้างสารภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านได้ ถ้าหากมีการติดเชื้อในอนาคต
  2. วัคซีนที่ผลิตจากชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส โดยอาศัยหลักการคล้ายกันกับวัคซีนที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าไปแล้ว ร่างกายจะจดจำโปรตีนของไวรัส และสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อต้านได้ถ้าหากมีการติดเชื้อในอนาคตเช่นกัน
  3. วัคซีนที่ผลิตโดยตัดชิ้นส่วนสารพันธุกรรมที่ใช้สร้างโปรตีนของไวรัสโควิด-19 แทรกไปในไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรคต่อมนุษย์ วิธีนี้จะใช้ไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวพาที่เรียกว่าพาหะพาเข้าไปในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น อะดีโนไวรัส หลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าไปแล้ว จะทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อต้านโปรตีนของเชื้อไวรัสโควิด-19
  4. วัคซีนที่ผลิตโดยการทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 อ่อนแรงหรือตายจนไม่สามารถก่อโรคได้ หลังจากฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าไป ร่างกายจะสามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

ในประเทศไทย ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 ชนิดที่นำเข้ามาฉีด ได้แก่ ซิโนแวคและแอสตร้าเซเนกา ซึ่งทั้ง 2 วัคซีนมีความแตกต่างกันดังนี้

  1. ซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้วิธีการทำให้เชื้อไวรัสอ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อโรคได้ ซึ่งจากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า ประสิทธิภาพในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยเมื่อคิดประสิทธิภาพโดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับได้ ในด้านของผลข้างเคียง พบผลข้างเคียงชนิดแพ้วัคซีนรุนแรงเพียงแค่ 1 รายในการทดสอบที่ประเทศตุรกี (เดือนพฤษภาคม 2564)
  2. แอสตร้าเซเนกา เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้วิธีตัดชิ้นส่วนสารพันธุกรรมที่ใช้สร้างโปรตีนของไวรัสโควิด-19 แทรกไปในอะดีโนไวรัสเพื่อนำเข้าร่างกาย ซึ่งจากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า ประสิทธิภาพโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ในด้านผลข้างเคียง พบผลข้างเคียงชนิดแพ้วัคซีนรุนแรงที่มีผลต่อระบบประสาท หรือระบบหลอดเลือดอยู่บ้าง แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนแน่หรือไม่

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนกาดูเหมือนจะมากกว่าซิโนแวค แต่ก็อาจจะต้องมองในด้านผลข้างเคียงเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบกันด้วย แต่ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ยังเป็นเรื่องใหม่ เพราะถูกเร่งผลิตขึ้นเพื่อใช้รับมือกับภาวะการระบาดให้ทันท่วงที ทำให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ ที่ข้อมูลยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน และเลือกวัคซีนยี่ห้อไหนดี ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบตายตัว อาจจะขึ้นอยู่กับวิจารญาณแต่ละคน เนื่องจากแต่ละคนมีเงื่อนไข ภาวะร่างกายแตกต่างกัน แต่ในขณะนี้ ที่ยังไม่มีอาวุธรับมือชนิดใดที่มีประสิทธิภาพชัดเจนมากไปกว่าวัคซีน ทำให้วัคซีนโควิด-19 ไม่ว่ายี่ห้อใด ก็อาจจะถือเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้

Recommended Posts

Leave a Comment