เชื่อว่าหากพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้านั้น ใคร ๆ หลายคนอาจจะกำลังสงสัย หรือกำลังสังเกตตัวเองอยู่ว่าตนเองนั้นได้เข้าข่ายการเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่า? ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจจะกังวลใจและรู้สึกไม่อยากให้ตัวเองต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยโรคนี้ เพราะนอกจากความกลัวในด้านสังคมว่าอาจจะโดนคนอื่นมองแปลก ๆ กลัวจะมีหาว่าเป็นโรคจิตหรือเป็นบ้า ทั้ง ๆ ที่โรคนี้นั้นไม่ได้ถูกเรียกแบบนั้นเลยในอาการทางการแพทย์ ยังมีเรื่องของการรักษาที่ต้องทานยาในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็ยังมีความเชื่อผิด ๆ เรื่องผลข้างเคียงของยา รวมถึงความเชื่อที่ว่าหากไม่ทานยาก็จะกลับมาเป็นซึมเศร้าอีกได้

ในวันนี้ เราได้รวบรวมความรู้ ความเข้าใจ เและแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธีสำหรับโรคนี้ เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่กำลังประสบปัญหาหรือเข้าข่ายในการเป็นโรคซึมเศร้านั้น สามารถปฏิบัติตัวให้ถูกวิธีเพื่อรับมือกับการต่อสู้ของโรคนี้ได้อย่างถูกต้องกันค่ะ

โรคซึมเศร้าคืออะไร? และมีสาเหตุมาจากอะไร?

สำหรับโรคซึมเศร้านั้น หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นโรคที่เกิดจากจิตใจ เกิดจากความอ่อนแอ และไม่เข้มแข็งพอของผู้ป่วย ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบนี้อย่างไม่มีความสุข แต่ความจริงแล้ว ในทางการแพทย์นั้นมันคือโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งเมื่อสารเคมีทั้งสามชนิดนี้อยู่ในภาวะไม่สมดุล ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ ความคิด และพฤติกรรมต่าง ๆ ผิดปกติไป โดยที่ทางผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะต่างจากอารมณ์ชั่วขณะอย่างความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวด ที่เมื่อสภาวะเหล่านั้นหายไป เราก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้า

โดยปกติแล้วอาการที่สามารถสังเกตได้ชัดมีดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้าอยู่ตลอดเวลา หดหู่ ร้องไห้ตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกมีความกังวล ความเครียด ความหงุดหงิดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เช่น การทำงาน การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การใช้ชีวิตและสุขภาพ เป็นต้น
  • รู้สึกไม่อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ หมดความสนใจในกิจกรรมที่ตนเองเคยชอบอย่างไม่มีเหตุผล เก็บตัวและไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
  • รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือในบางรายอาจมีการรับประทานมากกว่าปกติ
  • คุณภาพการนอนหลับย่ำแย่ ประสบปัญหานอนไม่หลับทั้งคืน หรืออาจจะนอนมากกว่าปกติ
  • ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกอยากนอนตลอดเวลา อ่อนเพลีย ไม่อยากลุกเดินหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง
  • สมาธิลดลง ไม่สามารถโฟกัสสิ่งต่าง ๆ ได้
  • รู้สึกไร้ค่า หมดความภูมิใจในตัวเอง สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น และมีความคิดที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

หากพบว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการของโรคต้องทำอย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่สามารถหายได้ ซึ่งในแนวทางการรักษาที่ถูกต้องนั้นคือการนัดพบและพูดคุยกับจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านโรคนี้โดยเฉพาะ โดยแนวทางในการรักษานั้นก็มีมากมายหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยแนวทางการรักษามีดังนี้

1.ใช้ยารักษา

เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ง่ายและนิยมใช้มากที่สุดในกระบวนการรักษา โดยแพทย์จะจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้กลับอยู่ในจุดปกติ โดยปกติมักใช้เวลาในการทานยาอยู่ประมาณ 9-12 เดือน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอ ความมีวินัย และแนวทางการปฏิบัติตัวของคนไข้ด้วย

2.จิตบำบัด

โดยมากมักจะทำการรักษาแบบจิตบำบัดควบคู่กับการทานยา เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้ว ในกระบวนการทำจิตบำบัดที่เป็นที่นิยม คือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-behavioral therapy; CBT) และ การบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive psychotherapy) เป็นต้น

การรักษาด้วยอุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation; TMS)

สำหรับวิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่อาจมีการของโรครุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ผล โดยทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้อุปกรณ์ที่สามารถปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านศีรษะ เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสำหรับการกระตุ้นเซลล์สมองเพื่อให้สื่อนำประสาทกลับมาทำงานได้อย่างปกติ

โดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัว และเรียกได้ว่าเป็นภาวะอาการป่วยปกติที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง ในบางตัวแปรของชีวิตเราอาจไม่สามารถควบคุมจัดการกับภาวะที่ไม่สบายใจของตนเองได้ดีนัก ทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุล แต่เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังเป็นโรคนี้นั้น เราก็สามารถที่จะเข้าไปพบจิตแพทย์ เพื่อหาแนวทางการรักษาได้อย่างปลอดภัยและสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้องค่ะ

Recommended Posts

Leave a Comment