โฮมสคูลอาจเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ จึงต้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก โดยที่ผ่านมามักจะพบปัญหานักเรียนมีอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือสภาพแวดล้อมไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ จึงมีแนวโน้มที่เด็กนักเรียนไทยจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้กว้างขวางมากขึ้นโดยไม่ต้องผูกติดกับครูหรือโรงเรียน การเรียนโฮมสคูลจึงเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดัดแปลงหลักสูตรและจัดสรรเวลาให้บุตรหลานเรียนได้อย่างเหมาะสม

การเรียนโฮมสคูลทำอย่างไร

โฮมสคูลเป็นช่องทางการศึกษาประเภทหนึ่งที่ถูกกฎหมาย ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งระบุไว้ว่า “นอกเหนือจากรัฐเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ผู้ปกครองสามารถจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูลให้บุตรหลานได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งจบมัธยม และยังสามารถจัดโฮมสคูลได้หลายรูปแบบ เช่น การศึกษาเดี่ยว ที่พ่อแม่จะเป็นผู้ประเมินผลการเรียนของลูกร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การศึกษาแบบมีส่วนร่วม โดยการรวมกลุ่มของผู้เรียนโฮมสคูลเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลร่วมกับโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนออกใบรับรองการศึกษา  ช่วยออกแบบหลักสูตร และสนับสนุนการเรียนการสอนในด้านต่างๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในรูปแบบได้ ก็จะมีการประเมินผลการเรียนจากเขตพื้นที่การศึกษาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้การเรียนโฮมสคูลยังสามารถรับเงินอุดหนุนการศึกษาจากภาครัฐได้เหมือนกับนักเรียนทั่วไปในโรงเรียนปกติ และสามารถรับรองวุฒิการศึกษาเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้เช่นเดียวกับการศึกษาในโรงเรียนปกติ

ข้อดีและข้อเสียของการเรียนแบบโฮมสคูล

ข้อดี

  1. สามารถดัดแปลงหลักสูตร และจัดสรรเวลาเรียนให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนได้
  2. นักเรียนโฮมสคูลไม่ต้องเจอกับปัญหาจากการไปโรงเรียน เช่น การเดินทางที่ใช้เวลานาน การถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง ความกดดันในโรงเรียน หรือการสอนที่ด้อยคุณภาพในบางโรงเรียน
  3. ผู้ปกครองอาจมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลานน้อยลง เนื่องจากการเรียนโฮมสคูลไม่ต้องจ่ายค่าเทอม และไม่ต้องมีเครื่องแบบนักเรียน

ข้อเสีย

  1. นักเรียนโฮมสคูลอาจขาดกระบวนการขัดเกลาทางสังคม เนื่องจากการเรียนโฮมสคูลที่บ้านทำให้เด็กเจอเพื่อนวัยเดียวกันน้อยลง
  2. ผู้ปกครองต้องเสียเวลาไปกับการจัดการเรียนการสอนของลูก และมีความเสี่ยงที่จะดูแลการศึกษาของเด็กได้ไม่ดีเท่ากับโรงเรียน
  3. สังคมอาจไม่มีความเชื่อมั่นต่อเด็กที่จบการศึกษาแบบโฮมสคูล เนื่องจากการเรียนรูปแบบนี้ยังไม่แพร่หลายในไทยมากนัก

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่เอื้อต่อการศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนในโรงเรียน การทำหลักสูตรโฮมสคูลจึงทำได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรคำนึงถึงความชอบความสนใจของเด็กเป็นอันดับแรก เพราะการเรียนรู้ในวัยเด็กต้องมีทั้งด้านวิชาการและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างตัวตนเมื่อเติบโตไปในอนาคต

 

Recommended Posts

Leave a Comment