โรคซึมเศร้า เป็นอาการป่วยทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม จนกลายเป็นอาการป่วยทางด้านจิตใจ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงความรู้สึกเศร้าเท่านั้น แต่ความจริงเป็นโรคที่ส่งผลอันตรายกว่าที่คิด มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสถิติผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปีทั้งจากทั่วโลกและภายในประเทศไทย กลายเป็นหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวที่ทุกคนควรตระหนักในการรับมืออย่างจริงจัง

โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด?

สาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้จากเพียงปัจจัยเดียว เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อจิตใจ จึงมีปัจจัยหลายด้านที่สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน โดยมีสาเหตุที่สำคัญดังนี้

  1. ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง

สมองทำหน้าที่ควบคุมการทำงานในด้านของการรับรู้ ความจำ อารมณ์ และความรู้สึก ดังนั้นเมื่อสารเคมีในสมองหรือที่เรียกกันว่า “สารสื่อประสาท” ขาดสมดุล จึงส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า สารสื่อประสาทที่สำคัญได้แก่ เซโรโทนิน, แอซิติลโคลีน, นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน

  1. พันธุกรรม

มีการศึกษาค้นพบว่าพันธุกรรมเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง หากมีคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรงเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีความเสี่ยง 20-40% ที่เราจะเป็นโรคนี้เหมือนกัน หรือในกรณีที่เป็นพี่น้องฝาแฝดแล้วมีคนหนึ่งเป็น อีกคนหนึ่งก็จะมีความเสี่ยงสูง 60-80% เลยทีเดียว

  1. สภาพแวดล้อมรอบด้าน 

สภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ หากต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยปัญหา ก่อให้เกิดความเครียด ความกดดัน หรือต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้ายแรงกระทบกระเทือนใจ ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า

  1. ลักษณะนิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคล

เนื่องจากแต่ละบุคคลมีลักษณะนิสัยแตกต่างกันไป จึงส่งผลให้มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจที่ไม่เท่ากัน หากเป็นคนชอบมองโลกในแง่ลบ คิดมาก ตำหนิตัวเองอยู่บ่อยครั้ง ก็จะยิ่งทำให้มีจิตใจที่เปราะบาง อ่อนไหวง่ายเมื่อมีเรื่องมากระทบกระเทือนใจ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมากระตุ้น เช่น ฮอร์โมน ผลข้างเคียงของยาบางชนิด ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ทางร่างกาย พฤติกรรมการพักผ่อน

การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

                โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่อันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มมีความเสี่ยง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัด การรักษาจะแบ่งออกเป็นหลายวิธีโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หรือในบางกรณีอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน

  1. รักษาด้วยจิตบำบัด

การทำจิตบำบัด คือการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยใช้เวลาพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์ นักจิตบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองได้ดีขึ้นในด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งการทำจิตบำบัดนั้นมีหลายวิธี เช่น จิตบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม จิตบำบัดประคับประคอง หรือจิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด ผู้บำบัดจะเลือกวิธีจิตบำบัดโดยประเมินจากอาการของผู้ป่วยว่าเหมาะสมกับการบำบัดในรูปแบบใด

  1. รักษาด้วยยา

เป็นการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารในสมองให้กลับสู่สมดุลปกติ จิตแพทย์จะคอยประเมินในเรื่องของชนิดยาและการใช้ยาในขนานที่เหมาะสม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรทานยาอย่างต่อเนื่องตามดุลยพินิจของแพทย์ อย่าหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อตนเองได้

  1. รักษาด้วย dTMS

dTMS (deep Transcranial Magnetic Stimulation) คือการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้กลับมาเป็นปกติ วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ไม่สามารถดีขึ้นได้ด้วยการทานยาหรือทำจิตบำบัด

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า?

อัตราผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในทุกปี บ่งบอกว่าเราทุกคนต่างมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ เมื่อเป็นภัยใกล้ตัวกว่าที่คิด แล้วจะต้องทำอย่างไรจึงจะห่างไกลโรคนี้ได้

  1. ดูแลสุขภาพให้ดี

สุขภาพร่างกายที่ดีจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตใจที่ดีไปด้วย ตรงกันข้ามถ้าหากมีสุขภาพร่างกายย่ำแย่ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจในทางลบ ดังนั้นสุขภาพร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรดูแลตัวเองให้ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์

  1. คอยพูดคุยปรึกษากับคนรอบข้าง

หากมีเรื่องเครียดแล้วเก็บไว้ในใจคนเดียว ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการเครียดสะสม ดังนั้นควรเลือกที่จะพูดคุยปรึกษากับคนรอบข้าง เล่าเรื่องที่พบเจอในแต่ละวันให้พวกเขาฟัง เป็นการระบายความอัดอั้นในใจ เมื่อได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาอาจทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ และเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรจะต้องพิจารณาว่าคนรอบข้างคนไหนที่สามารถพูดคุยด้วยได้อย่างสบายใจ เพราะหากคุยกับคนที่ตัดสินคนอื่นด้วยอคติ หรือมักมีประโยคคำพูดกระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะยิ่งส่งผลในด้านลบต่อโรคซึมเศร้า ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น

  1. ออกไปทำกิจกรรม

การออกไปทำกิจกรรมสนุกสนานจะช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดในชีวิตประจำวันลงได้ ลองหาเวลาว่างออกไปทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี พบปะเพื่อนฝูง เข้าสังคม เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว

  1. หมั่นสังเกตตัวเอง

สิ่งที่สำคัญมากคือต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าสุขภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละวัน มีหลายคนที่ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในจุดที่เครียดมากเกินกว่าปกติ ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับสภาวะจิตใจย่ำแย่จนมารู้ตัวอีกทีตอนที่อาการเริ่มรุนแรงแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ดังนั้นอย่าละเลยกับสุขภาพจิตใจของตัวเอง หมั่นสังเกตเสมอเพื่อให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา การที่รู้ตัวจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปในทางที่เหมาะสมขึ้นได้ เช่น หากรู้ว่าวันนี้อารมณ์ฉุนเฉียวเกินไปก็ต้องปรับให้ใจเย็นลง หากรู้ว่ากำลังมองโลกในแง่ลบก็ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่

                โรคซึมเศร้าไม่ใช่เพียงความเศร้าชั่วขณะอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจผิด และไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่คือโรคทางใจประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยอันซับซ้อนเหนือการควบคุม ดังนั้นแทนที่จะตัดสินผู้ป่วยซึมเศร้าด้วยอคติ เปลี่ยนมาทำความเข้าใจพวกเขา เรียนรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้อง และคอยดูแลตัวเองให้มีสุขภาพจิตที่ดี จึงจะเป็นการดีที่สุด

Recommended Posts

Leave a Comment