ในปี 2022 หลังจากที่ทั่วโลกเพิ่งร่วมกันเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 มาได้ไม่นาน ปัญหาถัดมาก็ได้ตามมาติด ๆ นั่นคือปัญหา “เงินเฟ้อ” ซึ่งในตอนแรกดูเหมือนว่าปัญหานี้ทุกคนจะมองว่าเป็นเรื่องชั่วคราว สักพักก็จะลดลงเองได้ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 65 ที่ผ่านมา ทางสหรัฐได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงถึง 8.3% ซึ่งเกือบจะสูงที่สุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเงินเฟ้อในเชิงลึก และวิธีการรับมือในฐานะประชาชนคนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจโลก

เงินเฟ้อ คืออะไร และมีกี่แบบ?

ในทางทฤษฎีคำว่าเงินเฟ้อหมายถึง “ภาวะทางเศรษฐกิจ ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศสูงมากเกินไป ทำให้ราคาสินค้าทุกชนิดแพงและค่าเงินเสื่อมค่าลง”

ถ้าเรามาลงรายละเอียด คำว่า “ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป” เกิดมาจากการที่ธนาคารกลางของประเทศได้พิมพ์เงินออกมาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการ Lock Down ขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างกะทันหันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหน้าที่ของธนาคารกลางคือต้องรักษาระบบเศรษฐกิจไว้ให้ดำเนินต่อไปได้ การพิมพ์เงินเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการเงินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่โดยปกติแล้วธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะพิมพ์เงินได้จำกัดตามปริมาณทุนสำรองของประเทศตัวเอง แต่ไม่ใช่กับประเทศสหรัฐอเมริกาที่ธนาคารกลาง หรือ The Federal Reserve (FED) สามารถพิมพ์เงินออกมาได้ตามที่ต้องการ (ศึกษาเพิ่มเติมได้โดยค้นหา Nixon Shock) นั่นทำให้ปริมาณเงินในระบบการเงินโลกมีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติโรคระบาด แต่ดูเหมือนว่าน้ำหอมที่มากไปก็กลายเป็นยาพิษได้ การที่มีอะไรมากเกินไปสิ่งนั้นย่อมเสื่อมมูลค่าลงไปโดยธรรมชาติ

“ราคาสินค้าแพงขึ้น” จริง ๆ ราคาสินค้าต่างก็แพงขึ้นทุกปีเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เอาไว้ใช้ผลิตโทรศัพท์มือถือหรือแม้แต่รถยนต์ สงครามรัสเซียยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันนั้นสูงขึ้นเพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งทางเรือที่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดในประเทศจีน และเรื่องอื่นอีกมากเป็นสาเหตุที่ข้าวของมีราคาแพงขึ้นอย่างผิดปกติ

ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น จะมี 2 แบบ ดังนี้

1.Core Inflation อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่หักสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงานออก เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่เหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน เหลือแค่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจึงมีความผันผวนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ประเทศพัฒนาแล้วจะใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลัก)

2.Headline Inflation อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป (CPI) เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ (ประเทศกำลังพัฒนามักจะใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นหลัก)

เราจะรับมือเงินเฟ้อได้อย่างไร?

ในขณะที่ค่ามูลค่าของเงินลดลงและราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีที่ง่ายและดีที่สุดในยุคนี้คงหนีไม่พ้น “การลงทุน” หลักการคือคุณต้องสะสมเงินเพื่อให้สามารถนำไปลงทุนต่อยอดได้ หรือที่ผู้คนมักจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ให้เงินทำงาน” โดยคุณจะต้องแสวงหาการลงทุนที่ผลตอบแทนจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว

ในยุคที่เงินเฟ้อสูงแบบนี้การออมเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถรักษามูลค่าของเงินให้ชนะเงินเฟ้อได้ คุณต้องตามหาเครื่องมือการลงทุนที่มีอยู่หลากหลาย แต่เลือกมาใช้แค่ที่คุณเข้าใจดีพอ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าถ้าคุณลงทุนอย่างผิดวิธีแทนที่เงินของคุณจะเติบโตให้ความมั่งคั่งของคุณเพิ่มขึ้น คุณอาจจะขาดทุนอย่างหนักถ้าคุณไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือลงทุนมากพอ เหมือนกับอาวุธที่สามารถพานักรบไปยึดหัวเมืองได้มากมาย แต่นักรบก็ตายด้วยอาวุธเหล่านั้นเช่นกัน

Recommended Posts

Leave a Comment