ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ หนังสือปกอ่อนสีน้ำเงินส้มเล่มนี้ คงเป็นหนังสือที่สะดุดตานักอ่านหลายท่านที่ชอบอ่านวรรณกรรมแปล และอาจพลั้งมือเผลอหยิบขึ้นมาดูเรื่องราวคร่าว ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเผลอใจอ่านไปแล้ว คงเป็นเรื่องยากนักที่จะไม่พาหนังสือเล่มนี้กลับมาด้วย
จุดเริ่มต้นของหนังสือ
หนังสือวรรณกรรมแปลร่วมสมัยเล่มนี้ เป็นผลงานแฟนตาซีของนักเขียนชื่อดัง Sosuke Natsukawa (โซสุเกะ นัตสึคาวะ) ที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลแล้วกว่า 15 ประเทศทั่วโลก และยังได้รับรางวัล Japan Bookseller Award นิยายญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ถูกยกย่องในระดับสากล ว่าเป็นผลงานชั้นยอด เรื่องราวอันสนุกสนาน เต็มไปด้วยประเด็นให้ฉุกคิดว่า “ทุกวันนี้เราอ่านหนังสือไปเพื่ออะไรกันแน่” บนหน้าปกของหนังสือ ที่ถูกออกแบบโดย Miyazaki Hikari( มิยาซกิ ฮิคาริ) และข้อความที่ชวนอ่าน ซึ่งถูกแปลโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย และถูกตีพิมพ์ ที่สำนักพิมพ์ Bibli
ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ เริ่มต้นด้วยนักเรียนหนุ่มมัธยมปลาย นัตสึกิ รินทาโร่ อาศัยอยู่กับปู่ที่เป็นเจ้าของร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง และเมื่อปู่เสียชีวิตกระทันหัน จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้จึงได้เกิดขึ้น เมื่อ นัตสึกิ รินทาโร่ จะต้องสืบทอดกิจการ และแมวลายสีส้มจึงได้ปรากฎตัวขึ้น ท่ามกลางความมึน งง และสับสนของรินทาโร่ ว่าเขาจะสามารถสืบทอดและดูร้านหนังสือของปู่ได้หรือไม่
เรื่องราวชวนอ่าน
คุณโซสุเกะ นัตสึคาวะ เขียนดำเนินเรื่องด้วยความสนุกสนาน น่าพิศวง และชวนสงสัยได้อย่างดีเยี่ยม จนนักอ่านหลาย ๆ ท่านคงวางหนังสือไม่ลงเป็นแน่ เพราะนอกจากจะเพิ่มอรรถรสในการอ่านแล้ว ยังแฝงไปด้วยมุมมอง ข้อคิดที่คุณนัตสึคาวะ ต้องการสื่อถึงความหมายของการพิทักษ์หนังสือในแง่มุมต่าง ๆ ของนักอ่านทั้งหลายผ่านตัวละคร ในเขาวงกตทั้ง 4 ได้อย่างลึกซึ้ง จนน่าเหลือเชื่อ ว่าบางครั้งนี่คือเรื่องตลกร้ายของวงการอ่านหนังสือ คือการมีหนังสือมากมาย เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย มองไม่เห็นรอยยับเหมือนไม่เคยอ่าน สะสมไว้ในชั้นหนังสือที่สวยงามสะดุดตา หรือจะพูดได้ว่ามีหนังสือไว้เพื่ออวด หรือแม้กระทั่งการอ่านแต่เรื่องย่อ ผ่านตัวละครของผู้ตัดฉับ คุณนัตสึคาวะ ยังสื่อให้เห็นว่าการอ่านแต่เรื่องย่อจะทำให้เราไม่มีทางได้รับรู้อรรถรส ความลึกซึ้งของเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการจะสื่ออย่างแท้จริง ในบางประโยคของหนังสือที่ผู้เขียนประทับใจคือ
“การอ่านหนังสือไม่ควรหวังแค่ความสำราญ หรือความน่าตื่นเต้น บางครั้งเราต้องดื่มด่ำไปทีละประโยค อ่านเนื้อหาเดิมซ้ำไปซ้ำมา หรืออ่านช้าๆพร้อมกับกุมขมับไปด้วย”
ซึ่งคงตรงใจนักอ่านหลาย ๆ ท่านที่ไม่ชอบอ่านเรื่องย่อ หรือบทสรุป เพราะทำให้ขาดอรรถรสของความสนุก ตื่นเต้นนั้นไป เรื่องตลกร้ายสุดท้ายคงหนีไม่พ้นการพิมพ์ที่มักจะพิมพ์แต่หนังสือขายดี จนบางครั้งเราก็ลืมไปว่าหนังสือทุกเล่มล้วนมีคุณค่าต่อการอ่าน มีคุณค่าต่อใครสักคน เหมือนบางท่อนในหนังสือ ที่คุณนัตสึคาวะ ได้เขียนไว้ว่า
“ถ้าวางอยู่เฉย ๆ หนังสือจะเป็นเพียงปรึกกระดาษธรรมดา แต่เมื่อได้รับความรักและการให้ความสำคัญจากมนุษย์อย่างต่อเนื่อง หนังสือจึงเริ่มมีหัวใจ”
มาถึงตรงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกความหมายที่ คุณนัตสึคาวะได้เขียนออกมานั้นไม่เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องจริงที่เราต้องทำให้หนังสือนั้นมีหัวใจในทุกยุคทุกสมัยที่ยังคงมีนักอ่าน เหมือนความพิเศษของหนังสือนิยายแฟนตาซีเล่มนี้ที่กล่าวถึงชื่อหนังสือดังทั่วโลกที่ครั้งหนึ่งเราเองก็เคยอ่าน เช่น โรมิโอแอนด์จูเลียต ชื่อนักเขียน และนักปราชญ์หลายท่านที่เป็นกวีเอกของโลก และประโยคที่ชอบที่สุดที่ปู่กล่าวไว้ โดยการเขียนของคุณนัตสึคาวะ ที่ทำให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการอ่านหนังสือ
“ถึงจะอ่านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลัง โลกที่เรามองเห็นก็ไม่ได้กว้างขึ้นตามไปด้วยหรอก ต่อให้หาความรู้ใส่ตัวมากสักแค่ไหน แต่ถ้าไม่คิดด้วยสมองตัวเองและเดินด้วยขาตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นเพียงของที่หยิบยืมคนอื่นมาโดยไม่มีแก่นสาร”
ผู้อ่านทุกท่านคงมีคำตอบในใจแล้วว่า “ทุกวันนี้เราอ่านหนังสือไปเพื่ออะไรกันแน่”