การเริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมือง ในอดีตนั้นแทบจะไม่ค่อยทำกัน หรือไม่อยู่ในโปรแกรมเที่ยวของคนไทยเลย เนื่องจากเรามักเข้าใจพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาของเก่าที่พ้นสมัยไปแล้ว แต่เมื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเศรษฐกิจประเทศในลำดับต้น ๆ ของหลายประเทศ มิวเซียมจึงถูกกำหนดให้มีหน้าที่สำคัญในการท่องเที่ยวยุคใหม่ และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนรอบพื้นที่ได้ไม่ใช่น้อย
การเริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมืองนั้น ท่านจะได้มากกว่าข้อมูลสถานที่เที่ยว
การเกิดขึ้นของมิวเซียมสยาม ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2551 นับเป็นต้นแบบพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่เพื่อการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ของไทย อันโยงไปถึงการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกระแสหลักที่น่าตื่นตาตื่นใจ และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในกระแสรอง ทำให้เกิดความตื่นตัวในงานพิพิธภัณฑ์ไปทั่วประเทศ มีการสร้างหรือพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในหลายจังหวัด ทั้งในส่วนเอกชน ส่วนราชการ และปัจเจกชนที่มีความพร้อม เกิดเทรนด์เริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมืองในคนรุ่นใหม่ ประโยชน์ของมิวเซียมประจำเมืองโดยสรุป ได้แก่
1.เป็นลายแทงสถานที่เที่ยวของเมือง
การเริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมืองนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการไปหาข้อมูลสถานที่เที่ยวต่าง ๆ เพื่อการตัดสินใจไปตามความชอบความสนใจของเราภายในเวลาที่เรามีเท่านั้น หากแต่ทำให้เราได้ศึกษารายละเอียดของสถานที่นั้น ๆ ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้เบื้องต้น อันจะสร้างสีสันและความรู้ที่ผู้ชื่นชอบสามารถสกัดหรือสะกดรอยค้นหาได้อย่างมีรสชาติเมื่อไปถึงสถานที่จริง ดุจการไปพบขุมทรัพย์น้อย ๆ
2.สร้างสำนึกรักษ์บ้านเกิดแก่ชุมชนท้องถิ่น
หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่คือการแสดงถึงศักยภาพของเมือง ด้วยการเรียบเรียงเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ มาเสนออย่างท้าทาย อันจะทำให้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ เกิดความภาคภูมิใจ และสามารถนำบทเรียนในอดีตมาต่อยอดความสำเร็จหรือป้องกันความผิดพลาดได้ การเริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมืองจึงรวมถึงเยาวชนคนหนุ่มสาวในท้องถิ่นเองด้วย
การเริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมือง สามารถสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้
แม้พิพิธภัณฑ์ภัณฑ์ดูเหมือนไม่ใช่สถานที่สร้างรายได้ได้มากนัก แต่หากเมืองนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำและมีพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบสร้างอย่างดี มีกิจกรรมเชิงพาณิชย์หลากหลาย ก็สามารถสร้างรายได้ได้มาก ไม่ว่าการผลิตสื่อต่าง ๆ การผลิตของที่ระลึก ร้านอาหารภายในสถานที่ ฯลฯ ดังเช่นพิพิธภัณฑ์นครวัดที่ประเทศกัมพูชา กลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่รัฐปีนัง หรือแม้แต่มิวเซียมสยามที่กรุงเทพฯ
ยิ่งไปกว่านั้น บางเมืองยังสร้างการท่องเที่ยวที่เป็นดุจพิพิธภัณฑ์ไปทั้งเมือง สร้างรายได้แก่ประชาชนได้หลากหลาย เช่น จำหน่ายอาหารท้องถิ่น การโดยสารรถรับจ้าง สินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน การเปิดบ้านร้านรวงให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวิถีชีวิต เช่นที่เมืองฮอยอัน-เวียดนาม หมู่บ้านพระใหญ่-ฮ่องกง เมืองมะละกา-มาเลเซีย เมืองฟลอเรนซ์- อิตาลี ฯลฯ สร้างรายได้กระจายออกไปไม่น้อย
ดังเช่นความสำเร็จในการผลักดันปีนังเป็นเมืองมรดกโลกด้วยการชูกลุ่มพิพิธภัณฑ์ของเมืองเป็นทัพหน้า หรือความสำเร็จของนโยบาย“เศรษฐกิจวัฒนธรรม” ของรัฐบาลสิงคโปร์ วงจรในธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ สมาคมมัคคุเทศก์ ฯลฯ สามารถบูรณาการร่วมกับภาครัฐกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีทิศทางเดียวกันได้ ด้วยแคมเปญ เริ่มเที่ยวที่มิวเซียมประจำเมือง