ลูกดื้อ ลูกไม่ยอมฟัง พ่อแม่หลายท่านคงจะปวดหัวกับปัญหานี้ไม่ใช่น้อย บางบ้านก็ถึงกับจบด้วยการตีให้เข็ดหลาบ เพราะผู้ใหญ่มักพูดเสมอว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” แต่ทำไมกลับใช้ไม่ได้ผล กลายเป็นลูกยิ่งดื้อยิ่งต่อต้าน ยิ่งทำให้พ่อแม่ปวดหัวจนไม่รู้จะแก้ไขยังไง มาลองดูว่านอกจากการลงโทษด้วยการตีแล้ว วิธีอื่น ๆ ที่จะใช้รับมือกับลูกได้มีอะไรบ้าง
เมื่อลูกดื้อรับมือได้ด้วย 3 วิธี
การจะรับมือกับลูกที่ดื้อ โมโหหงุดหงิด ไม่ยอมฟัง และพูดตะโกนเสียงดังใส่พ่อแม่ บอกได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพ่อแม่เลยที่จะจัดการกับลูกดื้อได้อยู่หมัด บางครั้งกลับทำให้เราโมโหปรี๊ดแตกจนเผลอพูดใส่ลูกเสียงดัง หรือห้ามใจไม่ไหวจนต้องลงไม่ลงมือ แน่นอนว่าการจัดการลูกด้วยวิธีนี้ก็เหมือนกับการดับไฟด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ลูกจะยิ่งดื้อยิ่งต่อต้านไปกันใหญ่ ดังนั้นขั้นตอนแรกที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ ต้องเริ่มจากสภาพจิตใจที่พร้อมของพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน
1.ควบคุมอารมณ์ให้นิ่งและเย็นเข้าไว้
ถ้าลูกดื้อเริ่มโมโหหงุดหงิด พ่อแม่จะต้องใจเย็นให้ได้มากที่สุด ไม่ตอบโต้กลับด้วยถ้อยคำรุนแรง เพราะถ้าเราเสียงดังกลับ ลูกจะจดจำและเข้าใจว่าการตะโกนเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถทำได้เพราะพ่อแม่ก็ทำเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องใจเย็นแล้วรอให้ลูกสงบอารมณ์ลงก่อน ยังไม่ต้องพูดคุยกัน ระหว่างนั้นพ่อแม่สามารถหันไปสนใจหรือทำอย่างอื่นแทน เช่น กวาดบ้าน เก็บของ ล้างจาน แต่ให้ลูกอยู่ในสายตา เมื่อลูกเริ่มใจเย็นลงแล้วค่อยมาพูดคุยเจรจากัน
2.พูดคุยด้วยเหตุผล และฟังอย่างเปิดใจ
บางครั้งที่ลูกชอบโมโหใส่หรือพูดเสียงดังกับพ่อแม่ อาจมีสาเหตุมาจากพ่อแม่ไม่ยอมฟังลูก จึงทำให้ลูกต้องเสียงดังมากขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อลูกเริ่มใจเย็นลงแล้ว พ่อแม่จึงค่อยเข้าไปพูดคุยและถามลูกว่าอะไรทำให้ลูกโมโห และอย่าลืมตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูด เมื่อลูกพูดจบสิ่งแรกที่ควรทำคือ ชื่นชมที่ลูกใจเย็นใช้น้ำเสียงที่ดีพูดกับเรา และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล ตัวอย่างเช่น ลูกโมโหเพราะแม่บอกให้ไปนอนในขณะที่กำลังเล่นเกม ลองคุยกับลูกว่า “แม่ดีใจที่ลูกใจเย็นแล้วคุยกับแม่ แม่เข้าใจว่าที่ลูกโมโหเพราะแม่ขัดจังหวะตอนเล่นเกม แต่ตอนนี้ถึงเวลานอนแล้ว พรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียนแต่เช้า อีก 5 นาทีลูกปิดคอมแล้วเข้านอนนะ” พูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งและใจเย็น
3.ลงโทษให้เหมาะสม ชื่นชมเมื่อทำดี
ถ้าลูกยังดื้อ ไม่ยอมฟัง ขั้นสุดท้ายของการรับมือก็คงไม่พ้นบทลงโทษ แต่การลงโทษก็ไม่ควรหนักเกินไป ที่สำคัญพ่อแม่ต้องหนักแน่นไม่ใจอ่อนแม้ลูกจะมาขอร้องเอาทีหลัง เช่น ถ้าลูกไม่ยอมหยุดเล่นเกมจนนอนดึก อาจลงโทษด้วยการงดเล่นเกมในวันถัดไป หรือยกเลิกทริปที่ลูกอยากไปเที่ยว ซึ่งบทลงโทษจะมากหรือน้อยก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสิ่งที่ลูกทำ ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าหากไม่เชื่อฟังหรือไม่ทำตามข้อตกลงที่คุยกันผลจะเป็นอย่างไร
และเมื่อลูกทำดีพ่อแม่ก็ควรชื่นชม เพราะการได้รับคำชมลูกจะมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง ทั้งยังได้เรียนรู้ด้วยว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนไม่ควรทำ ถ้าพ่อแม่อยากเปลี่ยนลูกดื้อให้เป็นลูกที่ดี ก็ควรลงโทษให้เหมาะสมและชื่นชมเมื่อทำดี แม้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ก็ตาม เช่น “พ่อดีใจนะที่ลูกพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเอง พ่อรู้ว่ามันยาก แต่สิ่งที่ลูกทำได้มันทำให้พ่อกับแม่ภูมิใจในตัวลูกมากนะ” ทำให้ลูกเห็นว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่ลูกทำ มันมีคุณค่ากับเรามากแค่ไหน ลูกจะรู้สึกภูมิใจและอยากจะทำสิ่งที่ดีต่อไปนั่นเอง
ปรับนิสัยลูกดื้อให้เป็นดีได้ ด้วยความเข้าใจของครอบครัว
คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินสุภาษิตนี้ไหม “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” อย่างที่โบราณว่าไว้ พ่อแม่เป็นอย่างไรลูกก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กดี เริ่มต้นจากตัวเราเป็นตัวอย่างที่ดีและสอนสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูก เมื่อลูกโมโหใจร้อน พ่อแม่จะต้องใจเย็นที่สุด และทำให้ลูกรู้ว่าจะไม่ได้รับความสนใจถ้าลูกยังคุมอารมณ์ไม่ได้ พ่อแม่จะสนใจเมื่อลูกใจเย็นแล้วเท่านั้น ถ้าลูกพูดเสียงดัง ลูกจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะพ่อแม่จะสนใจและคุยด้วยเมื่อลูกใจเย็นลงแล้ว สุดท้ายแล้วถ้าพ่อแม่ทั้งใจเย็นและพยายามพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล แต่ลูกก็ยังไม่ยอมฟัง ลูกจะถูกลงโทษตามความเหมาะสม ดังนั้นถ้าลูกเชื่อฟังและตั้งใจทำสิ่งที่ดี ลูกจะได้รับคำชื่นชม ได้รับความสนใจ และได้รับความรักจากพ่อแม่
วิธีการรับมือกับลูกดื้อนี้จะเห็นผลได้ดี ถ้าพ่อแม่นำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม แน่นอนว่าต้องใช้ทั้งความอดทน ความพยายาม และความเข้มแข็งมาก ๆ เพราะกว่าที่ลูกจะเรียนรู้และเข้าใจได้นั้นต้องใช้เวลา แต่เชื่อได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้กับลูก ลูกก็พร้อมที่จะเป็นคนที่ดีที่สุดให้กับเราได้เช่นกัน