แม้ว่าชาวโลกจะเปิดรับเพศสภาพที่หลากหลายได้มากขึ้น แต่ที่ใดมีแสงสว่างแห่งความหวัง ที่นั่นย่อมมีเงามืดของเหล่าผู้คนที่พร้อมจะต่อต้านเสมอ และสื่ออย่างนิยายวายหรือซีรีย์วายนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาของเหล่าบุคคลที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะยอมรับเพศสภาพที่หลากหลายได้หรือไม่ ถึงในประเทศไทยจะมีกระแสตอบรับสื่อดังกล่าวได้ดีมากก็ตามที แต่เอาเข้าจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ และคำตอบของคำถามนี้ก็ยังคงเป็นข้อสรุปที่คลุมเคลืออยู่ดี
ทำไมต้องนิยายวาย
นิยายวายคือวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องโดยตัวพระนางที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง หากวรรณกรรมใดที่ผู้แต่งเขียนฉากที่แสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างคนเพศเดียวกัน อีกทั้งยังใช้ตัวละครหลักในการดำเนินเนื้อเรื่องในฉากนั้น ๆ จะจัดผลงานชิ้นนั้นว่าไปนิยายวายทั้งสิ้น
แม้ก่อนหน้านี้นิยายวายจะยังไม่ถูกยอมรับในวงกว้าง แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างชุมชนบนอินเตอร์เน็ตและยังคงแลกเปลี่ยนเรื่องราวหรือความรู้สึกต่าง ๆ ในกลุ่มลับ รวมถึงการซื้อขายสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวรรณกรรมวาย ไม่ว่าจะเป็นนิยายวาย หรือการ์ตูนวาย ซึ่งแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของความนิยมนี้มาจากการจินตนาการต่อของเหล่านักเขียนที่ได้เสพสื่อที่ชื่อว่าการ์ตูนวาย หรือมังงะประเภท BL (Boys Love) รวมถึงการจับคู่จิ้นศิลปินเกาหลีจนเกิดงานเขียนชิ้นหนึ่งที่นิยมในหมู่แฟนคลับคือแฟนฟิคชัน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แฟนฟิคนั่นเอง
แต่แล้วความนิยมในสื่อวายกลับดีขึ้นมาอย่างดื้อ ๆ ในสังคมไทย หากตอบจากความเห็นของฉันผู้ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ยุคที่สื่อดังกล่าวยังไม่ถูกยอมรับ คงตอบได้ว่าความนิยมนี้มาจากภาพยนตร์อย่างเรื่องรักแห่งสยาม หรือซีรีย์ดังอย่างเรื่องฮอร์โมน และเรื่อง Love sick the series รวมไปถึงนิยายวายเรื่องโซตัส ที่สุดท้ายได้นำมาทำเป็นซีรีย์ด้วย และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะลืมกล่าวไปไม่ได้เลยคือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเทรนทวิตเตอร์อันเป็นสิ่งจุดประกายให้กระแสสื่อวายทั้งปวงลอยเหนือสิ่งอื่นใด
ลองกลับมามองในมุมของผู้บริโภคที่รักการเสพสื่อดังกล่าวเป็นชีวิตและจิตใจอย่างสาววาย หากลองไปถามพวกเธอเหล่านั้นว่าทำไมถึงชอบอ่านนิยายวาย หรือดูซีรีย์วาย พวกเธอก็จะตอบกลับมาว่า “เวลาเห็นผู้ชายหน้าตาดีสองคนชอบกันมันฟินดี” แต่แท้จริงแล้วยังมีเหตุผลอีกหลายประการที่สามารถสนับสนุนคำตอบของพวกเธอได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางจิตวิทยาอย่าง การให้ผู้ชายเป็นวัตถุทางเพศบ้าง หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ว่ามีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นวัตถุทางเพศ หรือความคิดที่ว่าถ้าฉันไม่ได้ผู้ชายหน้าตาดีคนนั้นมาเป็นแฟน ก็ให้เขาไปคบกับผู้ชายหน้าตาดีอีกคนหนึ่งเถอะ เป็นต้น
เมื่อออกมาจากโลกนิยายวายสู่ความเป็นจริง
ถ้าตื่นขึ้นมาจากจินตนาการในนิยายวาย ก็จะรับรู้ว่าความรักร่วมเพศนั้นยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมอยู่ดี ลองเดินเข้าไปถามสาววายดูสักคนว่าถ้าจู่ ๆ แฟนหนุ่มของเธอมาสารภาพว่าเคยชอบผู้ชายมาก่อน หรือถามว่าถ้าผู้ชายที่เธอแอบชอบอยู่เกิดชอบเธอไม่ได้เพราะรสนิยมทางเพศ เธอเหล่านั้นจะมีความรู้สึกหรือรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร
แน่นอนว่าถ้าคิดจากความน่าจะเป็นอย่างง่ายที่สุด ก็จะต้องมีทั้งคนที่รับได้กับคนที่รับไม่ได้ อีกทั้งเราก็ไม่รู้ว่าคำตอบเหล่านั้นพูดจากการจำลองสถานการณ์ หรือเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว เพราะมีหลายคนที่ตอบว่า “ฉันรับได้นะถ้าแฟนฉันเคยชอบผู้ชายมาก่อน” แต่พอเอาเข้าจริง ๆ กลับปฏิเสธและต่อต้านอย่างรุนแรงด้วยเหตุผลที่ว่า “ทำไมไม่บอก มาหลอกกันทำไม”
แม้กระทั่งคำที่สาววายหลายคนชอบหลุดปากพูดออกมาว่า “เสียดาย ทำไมเขาไม่ชอบผู้หญิงนะ” ก็เป็นเครื่องยืนยันความย้อนแย้งนี้ได้เป็นอย่างดีว่าพวกเธอแค่ชอบเสพสื่อวายเท่านั้น
หากกล่าวถึงข้อสรุปของบทความนี้ก็ยังไม่อยากจะลงความเห็นว่านิยายวายหรือสื่อวายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกใช้สำหรับการระบายอารมณ์ทางเพศของผู้คนที่ชื่นชอบเท่านั้น แต่อยากให้สื่อดังกล่าวเป็นทางออกที่ดีสำหรับการเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติในทางลบของใครหลายคนที่มีต่อกลุ่มคนรักร่วมเพศ เพราะในเรื่องของความรัก ความรู้สึกของคนทั้งสองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ