ที่บอกว่าผังเมืองเกี่ยวข้องมันเกี่ยวกับเรานั้น เกี่ยวในแง่ไหนกันนะ แล้วมันเกี่ยวขนาดนั้นเลยหรือ ถ้าคุณเคยดูซีรีส์เกาหลีจะเห็นว่าต่อให้นางเอกเจอเรื่องเลวร้ายแค่ไหน ก็ยังมีป้ายรถเมล์ที่มีที่นั่งให้พักพิง หรือมีหลังคาให้หลบฝน และได้ใช้เวลาดี ๆ ด้วยกันกับพระเอก แต่หากตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย แค่นั่งรอให้รถมาในช่วงเวลาปกติก็แทบจะไหม้เกรียม เพราะหลังคาไม่สามารถกันอะไรได้แม้กระทั่งแดด และนี่แหละค่ะคือความแตกต่างของคุณภาพชีวิตที่มาจากผังเมืองที่มีคุณภาพต่างกัน ตอนนี้ทุกคนคงเห็นภาพมากขึ้นแล้วถ้าอย่างนั้นเรามาทำความรู้จักกับผังเมืองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมดีกว่า
ทำความรู้จักผังเมือง
ทุกวันนี้เราสามารถแบ่งผังเมืองออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1.ผังเมืองที่ใช้สีในการกำหนดการใช้งานของที่ดินบริเวณนั้น ผังเมืองประเภทนี้เราสามารถพบเห็นได้ในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือในประเทศไทยของเราก็ใช้เช่นเดียวกัน โดยเราใช้กฎหมายเพื่อควบคุมให้เกิดการใช้ที่ดินตรงนั้นให้ตรงตามสีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำการกำหนดไว้ ซึ่งในกฎหมายนี้จะระบุแม้กระทั่งระดับความสูงของอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรม และความกว้างของถนนเลยทีเดียว
2.ผังเมืองที่ใช้นโยบายในการกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือทางแถบตะวันตก เนื่องจากเป็นการปล่อยให้เมืองเติบโตไปตามกลไกและบริบทของเมืองนั้น ๆ เอง ไม่ได้มีการใช้สีในการกำหนดการใช้ประโยชน์ เพราะมองว่ามันคือการจำกัดสิทธิ์และเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินอีกด้วย
ประโยชน์ของผังเมือง
เมืองก็เปรียบเสมือนบ้าน การที่เราอาศัยอยู่ในบ้านที่มีระเบียบ และมีการวางแผนการก่อสร้างที่ดีตั้งแต่โครงสร้างของบ้าน มีการจัดวางการใช้งานของแต่ละพื้นที่ได้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ คือ เรื่องทิศทางของลม ฟ้า และอากาศ ก็จะทำให้คนที่อาศัยในบ้านได้รับประโยชน์สูงสุด บ้านก็จะน่าอยู่ และยิ่งถ้าคนในบ้านมีระเบียบเก็บของเป็นที่เป็นทาง เมื่อเวลาจะใช้งานสิ่งของเหล่านั้นก็สามารถหยิบออกมาใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เพราะทุกอย่างถูกจัดวางไว้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้นผังเมืองก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการทำให้เมืองมีการจัดวางองค์ประกอบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการใช้งานพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ปะปนกันมั่ว และผังเมืองยังสามารถจัดทำขึ้นได้ทั้งพื้นที่เมืองไปจนถึงพื้นที่ชนบท พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่สีเขียว หรือเรียกได้ว่าทำได้ทุกพื้นที่ที่อยู่บนโลก ส่งผลให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือประเทศนั้นดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้น จากการวางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการให้บริการต่าง ๆ ไปจนถึงระบบในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและเอกชน เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบการให้บริการของสาธารณูปการ ฯลฯ เป็นต้น
และแน่นอนว่าประเทศไหนที่มีผังเมืองที่ดี คนที่ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ก็คือประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น เพราะพวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องรอรถเมล์นาน 3 ชั่วโมง หรือเดินหลบหลุมฟุตบาท ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม แถมยังได้รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐอย่างทั่วถึงอีกด้วย