จากประวัติเมือง ภูเก็ต ที่มีการศึกษากันมานั้น พบว่าได้มีชาวจีนอพยพเข้ามาพักอาศัยและนำความเจริญมาสู่เกาะแห่งนี้อย่างมาก รวมทั้งวัฒนธรรมการกินอยู่ พิธีกรรม ประเพณีต่าง ๆ ของชาว ภูเก็ต ต่างสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษที่เข้ามาตั้งรกราก และปลูกฝังค่านิยมในสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีพิธีมั๋วโง้ยที่ถูกหลงลืม

เด็กทารกที่เกิดจากครอบครัวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ต เมื่อมีอายุครบหนึ่งเดือน จะมีพิธีมั๋วโง้ยเปรียบเสมือนการรับขวัญเด็ก และแนะนำสมาชิกใหม่ให้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ได้รับรู้เป็นนัยว่าบ้านนี้มีลูกหลานเพิ่มขึ้นมาอีกคน ถือได้ว่าเป็นพิธีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ต

ไหว้พระขอพรและแจกจ่ายขนมมงคล

พิธีครบเดือน หรือมั๋วโง้ยในกาลก่อน เริ่มตั้งแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัวให้ทารกน้อย นำขนมมงคลไปไหว้พระที่ศาลเจ้า หรือชาว ภูเก็ตเรียกว่า “อ๊าม” ส่วนใหญ่จะไปกันที่ “อ๊ามปุดจ้อ” (ศาลเจ้าแม่กวนอิม) ตามความศรัทธาที่เชื่อว่า เจ้าแม่กวนอิมและเทพเจ้าจะดูแลคุ้มครองเด็กน้อยให้เติบใหญ่ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ด้วยในอดีตวิทยาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังขาดการพัฒนา ความเชื่อที่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะอำนวยพรให้แก่ชีวิตเกิดใหม่จึงเป็นมูลเหตุสำคัญ

นอกจากการขอพรเทพเจ้า พิธีครบเดือนถือเป็นโอกาสดีที่จะตั้งชื่อภาษาจีนให้แก่เด็กน้อย โดยใช้วิธีบอกกล่าวชื่อนั้นต่อหน้ารูปเจ้าแม่กวนอิม แล้วโป้ย (เสี่ยงทายด้วยไม้คู่ประกบรูปจันทร์เสี้ยว) เพื่อตรวจดูว่าชื่อที่ตั้งไว้นั้นเป็นสิริมงคลแก่ตัวเด็กหรือไม่

ขนมมงคล หรือของไหว้ที่ใช้ใน พิธีมั๋วโง้ย ได้แก่

  • อิ่วปึ่ง (ข้าวเหนียวผัดกับซีอิ๊วขาวและดำ ใส่กุ้งแห้งและหมูแดง โรยด้วยหอมเจียวและไก่ต้มฉีก) เป็นสัญลักษณ์ของความสมัครสมานในครอบครัว
  • ไข่ต้มย้อมเปลือกสีแดง ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับเด็กผู้ชาย แต่ถ้าบ้านไหนได้เด็กผู้หญิง มักใช้ขนมอั่งกู๊
  • ขนมอั่งกู๊ (ขนมเต่าแดง ทำจากแป้งข้าวเหนียวห่อไส้ถั่วทองกวน ใส่พิมพ์แล้วนำไปนึ่ง) หมายถึงอายุยืน และเชื่อว่าการถวายขนมอั่งกู๊แด่องค์เทพ จะทำให้ทารกน้อยเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย
  • ฮวดโก้ย (ขนมถ้วยฟู) แทนความเจริญรุ่งเรือง

เมื่อเด็กทารกน้อยได้ผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ อากงอาม่า (ปู่ย่าตายาย) ต่างชื่นมื่นมั่นใจว่าลูกหลานจะเติบโตแข็งแรงและมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ซึ่งเป็นความหวังและความสุขใจของคนวัยไม้ใกล้ฝั่ง

เสร็จสิ้นการไหว้พระขอพร พิธีมั๋วโง้ยยังไม่จบเพียงเท่านี้ คนในบ้านจะนำขนมมงคลที่ทำเผื่อไว้ไปแจกจ่ายแก่ญาติ ๆ เพื่อนฝูง และเพื่อนบ้านใกล้เคียง เพื่อประกาศให้ทราบทั่วกันว่าครอบครัวนี้มีเด็กครบเดือน เป็นสมาชิกใหม่ที่จะเติบโตสืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไป นอกจากนั้น โอกาสนี้ยังถือเป็นการพบปะไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาญาติมิตร เพราะสังคมในอดีต ชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนต่างทำมาหากินไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน อีกทั้งไม่มีเครื่องมือสื่อสารหรือเทคโนโลยีอย่างยุคสมัยนี้

ญาติมิตรที่ได้รับขนมมงคลจากพิธีครบเดือนแล้ว จะตอบแทนกลับด้วยหมี่สั่ว ไข่ไก่ ข้าวสาร หรืออั่งเปาได้ตามสะดวก แสดงถึงการต้อนรับสมาชิกใหม่อย่างอบอุ่น และทำให้เห็นรูปแบบสังคมในอดีตที่แบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกันเสมอ

มั๋วโง้ยเริ่มจางหาย หลงเหลือเพียงความทรงจำเก่า ๆ

ทุกสิ่งอย่างย่อมเปลี่ยนแปรไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับพิธีมั๋วโง้ยที่สัมผัสได้ยากขึ้น สังคมที่เปลี่ยนแปรไป การเดินทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ย่อมมีส่วนให้พิธีอบอุ่นในครอบครัวนี้ถูกลดทอนมองข้าม คงหลงเหลือไว้เพียงคำบอกเล่าจากคนรุ่นเก่า หรือคำค้นที่พบบน Google ความประทับใจในบรรยากาศที่อบอวลด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และความอบอุ่นทิ้งร่องรอยพิธีมั๋วโง้ยไว้ได้เท่านั้น

 

Recommended Posts

Leave a Comment