เจลล้างมือถือเป็นไอเทมจำเป็นของคนทุกเพศทุกวัยในยุคการเกิดวิกฤตการโรคระบาด COVID-19 เพราะมีข้อดีในเรื่องของการทำความสะอาด พกพาง่าย รวมไปถึงความสะดวกสบายในกรณีที่ไม่มีอ่างล้างมือ หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถล้างมือได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการใช้เจลล้างมือก็อาจเกิดโทษได้เช่นกัน หากเลือกใช้ผิดวิธี
อันตรายจากการใช้เจลล้างมือ
เจลล้างมือส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลัก คือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อ และมีส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ น้ำ น้ำหอม และกลีเซอรีน เพื่อให้ความชุ่มชื้น แต่ก็มีเจลล้างมือบางชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ผสมสารปฏิชีวนะที่เรียกว่าไตรโคลซาน (Triclosan) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสบางชนิดได้ดี หรือสารไตรโคลคาร์บาน (Triclocarban) ที่พบได้ในสบู่ และยาสีฟัน รวมไปถึงสารเบนซาโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride) ถึงแม้ว่าสารดังกล่าวเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็ตาม แต่ก็มีผลการวิจัยจากหลายสถาบันยืนยันว่าการใช้สารเหล่านี้มากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
ภัยร้ายของสารไตรโคลซาน (Triclosan) ในเจลล้างมือมีส่วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง หรือทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เนื่องจากสารนี้มีประสิทธิภาพในการดูดซึมสู่ผิว และเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ในปี 2011 ได้มีการศึกษาโดยหน่วยป้องกันโรคระบาดในสหรัฐอเมริกา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เจลล้างมือแทนการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำติดต่อกันนั้น มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโนโรไวรัส หรือไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลันมากกว่าคนปกติเกือบ 6 เท่า เป็นผลทำให้เกิดภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ การวิจัยของ University of Michigan School of Public Health ยังพบว่า ไตรโคลซาน (Triclosan) ส่งผลกระทบกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ เจ็บป่วยได้ง่าย และที่สำคัญสารปฏิชีวนะนี้ยังก่อกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นหมันได้
เบนซาโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride) ถือเป็นส่วนผสมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในเจลล้างมือ มีหน้าที่หลักในการทำลายผิวชั้นนอกของเซลล์แบคทีเรีย แต่ก็เป็นอันตรายต่อระบบเซลล์ของร่างกายมนุษย์เช่นกัน ทำให้เกิดอาการระคายเคืองภายในชั้นเยื่อบุผิว ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง นอกจากนี้เจลล้างมือบางชนิดยังมีการแต่งกลิ่นสังเคราะห์ให้หอม น่าใช้ ซึ่งกลิ่นสังเคราะห์นี้มีส่วนผสมของพลาเลท (Phthalate) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำลายระบบต่อมไร้ท่อ และระบบอวัยวะสืบพันธุ์ หากใครที่รู้สึกว่าใช้เจลล้างมือแล้วมือนุ่มขึ้นกว่าเดิมแล้วละก็ มั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่อย่างแน่นอน เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้น้ำมันธรรมชาติที่มีอยู่ในผิวหนังถูกขับออก ส่งผลให้มือของเรามีความหยาบกร้านขึ้น
การใช้เจลล้างมือให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้นสามารถทำตามคำแนะนำง่าย ๆ ดังนี้
- ควรใช้เจลล้างมือแทนสบู่ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น หลังการจับจ่ายซื้อของ หยิบจับสิ่งของภายนอกบ้าน หลังการไอ-จาม รวมทั้งใช้เช็ดทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือ รีโมทโทรทัศน์ เมาส์ คีย์บอร์ด หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่เชื้อโรค แต่หากต้องทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอาหาร การรับประทานอาหาร รวมไปถึงการเข้าห้องน้ำ การสัมผัสสัตว์เลี้ยง ขยะ และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ แล้วละก็ขอแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่จะดีกว่า
- ควรเลือกเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% ไม่มีกลิ่นหอม แอลกอฮอล์จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อเราถูแอลกอฮอล์ไปทั่วมือ ซอกนิ้ว และบริเวณหลังมือ อย่าเช็ดหรือล้างออกก่อนที่มันจะแห้ง
- ห้ามใช้เจลล้างมือกับมือที่มีคราบสกปรก หรือเป็นมันเยิ้มอย่างเห็นได้ชัด เจลล้างมือไม่สามารถทำความสะอาดคราบไขมัน และน้ำตาลได้หมด วิธีที่ดีที่สุด คือ การล้างด้วยสบู่เท่านั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้เจลล้างมือไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม กลับถึงบ้านแล้วควรล้างมือด้วยสบู่ทันที เพื่อความปลอดภัย เพราะเจลล้างมือไม่สามารถทำความสะอาดได้หมด แม้ว่าเราจะรู้สึกว่ามือสะอาดก็ตาม
- การใช้เจลล้างมือกับเด็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ห้ามดื่ม กิน หรือเลียเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะสุราเป็นพิษ อาเจียน ระบบหายใจทำงานผิดปกติ หมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
เจลล้างมือ…สิ่งมีประโยชน์ที่อาจเกิดโทษได้ หากใช้ไม่ถูกวิธี เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก่อนหยิบใช้เจลล้างมือครั้งต่อไป อย่าลืมนึกถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด