“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่มีอยู่จริงไม่ใช่เพียงแค่คิดกันขึ้นมาเอง โดยสาเหตุของโรคนี้มาจากปัจจัยที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากปัจจัยภายในหรือภายนอกก็สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งนั้น แต่ในปัจจุบันคนทั่วไปมักจะคิดว่าโรคนี้อาจจะไม่มีอยู่จริง เพราะเชื่อว่ามันเป็นการอุปทานหมู่ขึ้นมา ดังนั้นถ้าหากได้ทำความรู้จักและเข้าใจโรคนี้มากขึ้นก็จะช่วยให้รับมือได้ดียิ่งขึ้น

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Depression) คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อความผิดปกติทางความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์ โดยที่โรคนี้สามารเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้มักจะรู้สึกไม่มีความสุข เบื่อหน่าย เศร้า วิตกกังวล ไร้คุณค่า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มักจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโดยตรงจนทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคนี้จึงสำคัญมาก เพื่อที่เราจะได้รับมือกับโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมาจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

  1. ปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดโรค
    สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าที่มีผลมาจากปัจจัยภายใน ส่วนมากมักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นประสาททำงานไม่สมดุลกัน สารเคมีในสมองปริมาณลดลง ซึ่งสารเคมีนั้นมีชื่อว่า “เซโรโทนิน” (Serotonin) ส่งผลให้ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจแย่ลง อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถเกิดจากการส่งต่อทางพันธุกรรมได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็มีโอกาสที่จะส่งต่อโรคสู่คนอื่นได้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงในกรณีคนที่มีทัศนคติหรือความคิดในแง่ลบมาก ๆ ก็สามารถนำไปสู่โรคนี้ได้
  2. ปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดโรค
    สาเหตุของการเกิดโรคที่มีผลมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเกี่ยวเนื่องมากจากการที่ต้องเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจ ภาวะเครียดสะสม ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจจะส่งผลในแง่ลบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เช่น ผู้ป่วยบางคนต้องพบการสูญเสียครอบครัวอย่างกะทันหันแล้วทำใจไม่ได้ ผู้ป่วยเครียดเรื่องโดนไล่ออกจากงาน และว่างงานเป็นเวลายาวนาน หรืออีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เกิดจากการใช้ยาบางชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น สเตียรอยด์ ยาเบนโซไดอะซีปีน เป็นต้น

รับมือกับโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

นอกจากการทำความรู้จักจนเข้าใจในโรคซึมเศร้าแล้ว เรายังสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อีกด้วย เพียงแค่ต้องคอยหมั่นรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางกาย คือ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และสุขภาพทางจิตใจ คือ ฝึกให้ตนเองคิดบวก หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตึงเครียดหรือทำให้จิตใจหดหู่ และปัจจัยอื่น ๆ

แต่ถ้าหากพบว่าสุขภาพจิตของตนเองกำลังอยู่ในภาวะผิดปกติจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง ไม่มีความสุข และนำไปสู่ความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย เราควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างทันที ไม่ว่าการรักษาจะเป็นการคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อบำบัด การรับยารักษา หรือการกระตุ้นเซลล์สมองและประสาท โดยวิธีการรักษาควรได้รับการประเมินโดยแพทย์เท่านั้น

ซึ่งไม่ต้องกังวลที่จะเข้ารับการรักษา เพราะโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเพศไหนหรือในช่วงวัยไหนก็ตาม มันไม่ใช่โรคที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด และหากยิ่งเราเริ่มเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งหายไวเท่านั้น ดังนั้นควรหมั่นสำรวจตนเองอยู่เสมอเพื่อให้รู้เท่าทันโรค และเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

การศึกษาเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจโรคซึมเศร้านั้นนำไปสู่วิธีการป้องกันและรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้ตนเองห่างไกลจากโรคนี้ได้แล้ว ในกรณีที่ถ้าหากว่าเรามีคนรอบตัวที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่นั้น เราสามารถคอยสังเกตและแนะนำผู้คนเหล่านี้ถึงแนวทางในรับมือกับโรคนี้ได้อีกด้วย

Recommended Posts

Leave a Comment