การกลั่นแกล้งในโรงเรียน (School Bullying) กำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เพราะการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ง่ายขึ้นในปัจจุบันมีผลต่อการแพร่กระจายทางความคิดเกี่ยวกับประเด็นละเอียดอ่อนนี้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก จึงถือเป็นช่องทางหนึ่งที่มักถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในรั้วโรงเรียนที่มักแทรกประเด็นการกลั่นแกล้งในโรงเรียนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีดาราเกาหลีหลายคนถูกขุดคุ้ยเรื่องราวสมัยเรียนของพวกเขาว่า เคยเป็นอันธพาล ชอบรังแก บังคับ ข่มขู่ รีดไถ และชกต่อยเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าทันทีที่ข่าวแพร่ออกไปย่อมส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ดาราที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนอย่างมาก จนส่งผลทำให้บางคนถูกปลดออกจากละครที่กำลังออกอากาศอยู่ทันที เพราะถูกร้องเรียนจากผู้ชมทางโทรทัศน์หลายพันคน ทำให้เราต้องหันกลับมามองในสังคมเราเองว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นเรื่องจริงที่ไม่ได้มีแต่ในละคร และยังเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังในทุกสังคมมานาน แต่ผู้คนมักไม่ค่อยให้ความสนใจ

การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นเรื่องธรรมดาจริงหรือ

การกลั่นแกล้งในโรงเรียน คือการใช้ความรุนแรงกระทำต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งทางร่างกายและจิตใจในทุกรูปแบบ ดังนั้น การล้อชื่อบิดา มารดา หรือการตั้งฉายาให้เพื่อนสมัยเด็กก็คือ การกลั่นแกล้งในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง เราอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จริงแล้วทุกการกระทำ และคำพูดที่แสดงออกมาไม่ว่าจะน้อยหรือมากล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจของผู้ถูกกระทำอย่างที่ไม่อาจประเมินได้

ผลสำรวจจาก The Network of Legal Advocates for Children and Youth พบว่ามีเด็กนักเรียนไทยจำนวนกว่า 92% เคยถูกกลั่นแกล้งทั้งทางร่างกายและจิตใจจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ในขณะที่อีก 13% มีภาวะซึมเศร้าจากการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิตที่พบว่า มีเยาวชนไทยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาปีละประมาณกว่า 600,000 คน นำไปสู่การตั้งคำถามต่อมาว่าทำไมการกลั่นแกล้งในโรงเรียนถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอะไรเป็นสาเหตุของการกระทำเหล่านั้น

การกลั่นแกล้งเป็นการเลียนแบบอย่างหนึ่งหรือไม่

การกลั่นแกล้งของตัวละครนักเรียนในทีวีอาจจะไม่เกินจริงเลย หรือบางครั้งเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมันอาจรุนแรงยิ่งกว่าในละครก็ได้ ทั้งนี้ การดูทีวี และการเสพสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ของเด็ก และเยาวชนในบางครั้งก็มีผลต่อกรอบความคิดเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เช่น การทำตัวกร่าง การเป็นอันธพาลในโรงเรียนแบบในละครเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำแล้วจะได้รับการยอมรับและสนับสนุน ดังนั้น การกลั่นแกล้งตามเพื่อนจึงอาจเป็นผลมาจากการเลียนแบบตัวละคร การเลียนแบบพฤติกรรมจากคนในบ้าน การถูกบังคับเพื่อให้ได้รับการยอมรับในโรงเรียน หรือถูกกดดันให้ทำเพื่อจะได้รอดพ้นจากการถูกรังแก กล่าวได้ว่า บทบาทของตัวละครในทีวีมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเด็กและเยาวชนอย่างไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น การปลูกฝังค่านิยมเรื่องการประพฤติ และปฏิบัติตนตามแบบอย่างที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจะสร้างรอยแผลฝังลึกให้กับคนที่ถูกกระทำจนยากที่จะลบเลือนไปได้ด้วยระยะเวลา ทั้งนี้ทั้งนั้น การบรรเทาเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่จะดีที่สุดหากเราจะแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ ไม่ใช่ปลายเหตุ นั่นก็คือการปลูกฝังค่านิยม และกรอบความคิดที่ดีให้กับเยาวชนว่า การกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นถือเป็นสิ่งไม่ดี และไม่ควรทำตาม อีกทั้งยังควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนต่อผู้กระทำผิด และสนับสนุนให้เด็กที่เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีความกล้ามากพอที่จะบอกความจริงอย่างไม่ต้องกลัวใคร ไม่เช่นนั้น ปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่ถูกละเลย และซุกอยู่ใต้พรมต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30024

http://www.en.moe.go.th/enMoe2017/index.php/articles/523-school-bullying-problem-worsening

Recommended Posts

Leave a Comment